อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
ประวัติความเป็นมา
1. ด้านกายภาพ
ที่ตั้งของหมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่ มี ๔ หมู่บ้าน ประกอบด้วย
   หมู่ที่ 1 บ้านคลองเหีย มีพื้นที่ประมาณ 7,044 ไร่
   หมู่ที่ 2 บ้านช่องหลาด มีพื้นที่ประมาณ 4,456 ไร่
   หมู่ที่ 3 บ้านย่าหมี มีพื้นที่ประมาณ 8,864 ไร่
   หมู่ที่ 4 บ้านคลองบอน มีพื้นที่ประมาณ 6,918 ไร่

     สำนักงานเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอเกาะยาว บนพื้นที่บ้านช่องหลาด หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดพังงาประมาณ 48.5 กิโลเมตร
     เทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่มีพื้นที่   43.75   ตร.กม. หรือประมาณ  27,282  ไร่



แผนที่สังเขปแนวเขตเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่
1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
     ลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ที่ราบสำหรับการทำนาและทำสวนมีอยู่บ้างบริเวณชายทะเลและระหว่างภูเขา มีลักษณะเป็นเทือกเขาวางตัวตามความยาวของเกาะในแนวเหนือใต้และมีหาดทรายอยู่บริเวณชายฝั่งที่ติดทะเลด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก จากหาดทรายถัดขึ้นมาเป็นสันทรายและที่ราบติดกับเชิงเขา บางบริเวณมีลักษณะเป็นแหลมและอ่าว เช่น อ่าวสน ลักษณะของชายทะเลมีการปรับตัวให้เกิดเป็นอ่าวเว้าเข้าสู่แผ่นดิน และมีจงอยของหาดทรายและสันทราย ซึ่งมีไม้ชายเลนพวกตะบูนขึ้นปกคลุม

อาณาเขตติดต่อ
  ทิศเหนือ ติดอ่าวพังงาและตำบลเกาะยาวน้อย
  ทิศตะวันออก ติดทะเลอันดามันและน่านน้ำจังหวัดกระบี่
  ทิศตะวันตก ติดทะเลอันดามันและน่านน้ำจังหวัดภูเก็ต
  ทิศใต้ ติดกับตำบลพรุใน

ดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม
ประวัติความเป็นมา
    ประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวเกาะยาวไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่มีการเล่าสืบกันมาว่า เป็นกลุ่มชาวมุสลิมที่อาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ตามชายฝั่งทะเล อำเภอเมืองตรัง เมืองสตูล และตามเมืองอื่นๆ ที่กลัวภัยสงครามพม่ารบไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2328 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยอพยพเลียบชายฝังทะเลไปจนกระทั่งได้พบเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่เห็นว่าเกาะทั้งสองนี้เป็นทำเลเหมาะสมที่จะหลบภัย จึงได้พร้อมกันยึดเอาเกาะเป็นที่หลบภัยและตั้งหลักแหล่งทำมาหากินประกอบอาชีพ ถือกันว่าประชาชนกลุ่มนี้เป็นบรรพบุรุษชนรุ่นแรกของชาวเกาะยาวมาตราบปัจจุบัน

     การเรียกชื่อเกาะยาวอาจเป็นเพราะลักษณะภูมิประเทศที่ยาวของเกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ จากสำเนียงที่พูดคาดว่าบรรพบุรุษของชาวเกาะยาวใหญ่จะมา จากจังหวัดสตูล ในช่วงเริ่มต้นคาดว่าจะอาศัยความรู้ความสามารถในด้านการประมง เพื่อใช้ในการยังชีพ ส่วนความจำเป็นอย่างอื่น ทั้งในด้าน เกลือ น้ำตาล เข็ม ด้าย ต้องใช้สัตว์น้ำที่จับมาได้แลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่น ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ราบหุบเขาเหมาะสำหรับทำการเกษตร ใช้ในการปลูกข้าว และสวนต่างๆ เช่น มะพร้าว สะตอ มะม่วงหิมพานต์

     ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวใหญ่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ และยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๖ ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาและกระทรวงมหาดไทย โดยมีนายกเทศมนตรีตำบลเกาะยาวใหญ่เป็นผู้บริหารองค์กร มีภารกิจ อำนาจ หน้าที่ภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติครม.และเอกสารทางราชการที่เกี่ยวข้อง
วิสัยทัศน์
“ชุมชนเข้มแข็ง มั่งคั่ง แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ยั่งยืน ฟื้นวิถีชุมชนบนหลักศรัทธา มั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล นำการพัฒนาสู่อาเซียน ”
พันธกิจ
พันธกิจที่ 1 พัฒนา ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานที่สะดวกและปลอดภัย
พันธกิจที่ 2 เพิ่มศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่
พันธกิจที่ 3 ส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมอันดีงามเพื่อความเป็นอัตลักษ์ของชุมชนสืบไป
พันธกิจที่ 4 พัฒนาศักยภาพของคน ครอบครัว และชุมชนให้เข้มแข็ง โดยส่งเสริมความรู้ทักษะการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับพื้นที่และตลาด บนพื้นฐานหลักเศรษฐกิจพอเพียง
พันธกิจที่ 5 ปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการการศึกษาทั้งในและนอกระบบ สร้างพื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งการเรียนรู้
พันธกิจที่ 6 พัฒนาระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงทุกพื้นที่ พัฒนาศักยภาพ อสม.ให้เป็นแหล่งข้อมูลด้านวิชาการและปฏิบัติการสาธารณสุขของชุมชน
พันธกิจที่ 7 สร้างระบบการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการปัญหาขยะ สิ่งปฏิกูล และมลภาวะเพื่อรองรับการขยายตัวชุมชน
พันธกิจที่ 8 พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ดี มุ่งสู่ความเป็นเลิศ โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ มุ่งเน้นคุณภาพงาน โปร่งใส สะดวก รวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของประชาชน